สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา : คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา



ลูกบทแบบไหนต้องรับฟังความคิดเห็นและทำ RIA

ลูกบทแบบไหนต้องรับฟังความคิดเห็นและทำ RIA

เคยรู้สึกไหม?

เวลาไปติดต่อราชการ หรือจะประกอบกิจการงานอะไร มีกฎระเบียบให้เราต้องยื่นเอกสารนู่นนี่ หรือต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้มากมาย ทั้งที่ไม่จำเป็น หรือมีประโยชน์แก่รัฐนิดเดียว แต่เป็นภาระประชาชนมหาศาล

นั่นก็เพราะที่ผ่านมา กระบวนการออกกฎของไทย (เช่น กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ) มุ่งเน้นที่ความต้องการของภาครัฐ ความสะดวกของเจ้าหน้าที่ และการควบคุมกำกับประชาชน จนอาจละเลยการพิเคราะห์ว่า ที่บังคับให้ประชาชนต้องทำนั่นต้องยื่นนี่ กี่ชุดต่อกี่ชุด จำเป็นอย่างแท้จริงหรือไม่ พอสมควรแก่เหตุไหม

ซึ่งกลไกส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยสร้างความสมดุล ระหว่างประโยชน์สาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็คือการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และการวิเคราะห์ผลกระทบก่อนการออกกฎนั่นเอง

คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เห็นชอบร่างอนุบัญญัติตาม พรบ.77 จำนวน 3 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายเสนอ เพื่อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบก่อนการออกกฎที่ก่อภาระแก่ประชาชน เพื่อให้กฎที่จะออกมาใช้บังคับแก่ประชาชนนั้น จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จำเป็น

ซึ่งอนุบัญญัติทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 โดยกฎกระทรวงตามมาตรา 5 วรรค 5 ที่กำหนดประเภทหรือลักษณะของร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและทำ RIA ก่อนการออกกฎ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 8 ตุลาคม 2565 ดังนั้น การเสนอร่างกฎตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หน่วยงานผู้เสนอจึงต้องแนบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงาน RIA ของร่างกฎนั้นประกอบด้วย

ศึกษารายละเอียดของอนุบัญญัติทั้ง 3 ฉบับได้ที่นี่
- กฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565
- ประกาศคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การดำเนินการอื่นของระบบกลาง พ.ศ. 2565
- แนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2565
(ฉบับ Update)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อีเมล nr0913@ocs.go.th

T_0001